วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

หน่วยปฏิบัติการวิจัยกลางไบโอเทค

หน่วยปฏิบัติการวิจัย
กลางไบโอเทคเริ่มก่อตั้งและดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2539 โดยมีชื่อเดิมว่าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ-โยธี ตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ถนนโยธี ภายหลังได้มีการย้ายที่ทำการมายัง อุทยานวิทยาศาสตร์ รังสิต เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ.2545 และได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า หน่วยปฏิบัติการวิจัยกลางไบโอเทคหน่วยปฏิบัติการวิจัยกลางไบโอเทค เป็นหน่วยงานภายในศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการที่มุ่งเน้นการทำวิจัยเฉพาะด้านในแขนงที่มีความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และในระยะต่อมามีการขยายขอบเขตงานวิจัย โดยมุ่งเน้นการใช้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อแก้ปัญหาวิจัยและตอบสนองต่อความต้องการภาคอุตสาหกรรม

วิสัยทัศน์
เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยชั้นนำของประเทศที่มีความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ
พันธกิจ
-หน่วยปฏิบัติการวิจัยกลางไบโอเทคมุ่งเน้นในการดำเนินงานวิจัยตามแผนยุทธศาสตร์ของศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะด้านเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ
-พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับวงการธุรกิจ ของไทยโดยใช้นวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา


กลยุทธ์
หน่วยปฏิบัติการวิจัยกลางไบโอเทคมุ่งที่จะสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน ทำการสังเคราะห์และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่พร้อมแล้วให้แก่สาธารณชน และตอบสนองต่อภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสนับสนุนการร่วมมือในการทำวิจัยระหว่างนักวิจัยของหน่วยฯกับหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อเสริมสร้างความสามารถของบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในระดับนานาชาติ

งานวิจัยและพัฒนา
หน่วยปฏิบัติการวิจัยกลางไบโอเทคมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของวงการวิจัยของประเทศ โดยแบ่งกลุ่มงานวิจัยที่เป็นแกนหลักเป็น 3 โปรแกรมการวิจัยคือ

1. โปรแกรมการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology Research Unit)
มุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพของอาหารและพืช โดยมีเป้าหมายในการนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาช่วยปรับปรุงคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูง โดยมีการวิจัยที่ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีต้นเชื้อเพื่อปรับปรุงคุณภาพของอาหารหมักไทย การผลิตพืชหัวท่อนขนาดเล็กที่ปลอดโรค การคัดเลือกพืชที่ทนความเค็มและความแห้งแล้ง รวมทั้งการศึกษากลไกการสร้างแป้งในพืชหัวเพื่อเพิ่มมูลค่า

งานวิจัยและพัฒนา
-การศึกษาอัตราการหมักและการเกิดขึ้นของสารเมตตาบอไลต์ในระหว่างการหมักแหนมด้วยต้นเชื้อบริสุทธิ์
-การพัฒนาการเพิ่มปริมาณชีวมวลของจุลินทรีย์ โดยการปรับปรุงสูตรอาหารเลี้ยงและพัฒนากระบวนการหมัก
-การพัฒนาและประยุกต์ใช้ต้นเชื้อผงแห้งในการหมักแหนมในระดับอุตสาหกรรม
-การเปลี่ยนแปลงทางเคมี–ฟิสิกส์และชีวเคมีของแหนมในระหว่างการหมัก
-การศึกษาปฏิกิริยาตอบสนองและการแสดงออกของยีนทนเค็มในข้าวหอม โดยผ่านทางระบบ osmoregulation
-การศึกษาระบบทางสรีรวิทยาและชีวเคมีข้าวพันธุ์ทนเค็มภายใต้ระบบการควบคุมสภาพแวดล้อม
-การพัฒนาระบบการควบคุมการเกิดท่อนพันธุ์ขิงขนาดเล็กเพื่อลดต้นทุนการผลิต
-การประยุกต์เทคโนโลยีผลิตท่อนพันธุ์ขนาดเล็กปลอดโรคในพืชดอก
-การวิเคราะห์และการตรวจหายีนที่เกี่ยวข้องในเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างแป้งในมันสำปะหลังสายพันธุ์ต่างๆ โดยมีการเก็บแป้งที่ระดับต่างๆกัน
-กระบวนการขนส่งน้ำตาลและการเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นแป้งในมันสำปะหลัง
-การตรวจหาโปรโมเตอร์ที่จำเพาะในการสร้างและพัฒนาพืชหัวในหลอดทดลอง


ผลงานเด่น
-เทคโนโลยีต้นเชื้อสำหรับการหมักแหนม
-การผลิตท่อนพันธุ์ขิงขนาดเล็กปลอดโรค

ความเชี่ยวชาญ
-Starter culture technology
-Food chemistry and microbiology
-Bioprocess engineering
-Plant physiology, biochemistry and molecular biology
-Plant cell and tissue culture


2. โปรแกรมการวิจัยทรัพยากรชีวภาพ (Bioresources Research Unit)
มุ่งเน้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชีวภาพของประเทศ โดยประกอบไปด้วยกลุ่มงานวิจัยต่างๆ ที่ มีการดำเนินงานวิจัยตั้งแต่การสำรวจและเก็บตัวอย่างพืชและจุลินทรีย์จากธรรมชาติ การจำแนกและการแยก ชนิดของจุลินทรีย์ให้บริสุทธิ์ การจัดเก็บรักษาเชื้อสายพันธุ์จุลินทรีย์บริสุทธิ์ที่แยกได้ การนำไปใช้ประโยชน์ โดยการคัดหาเอนไซม์ที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม และการศึกษาหาสารออกฤทธ์ทางชีวภาพเพื่อ นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเป็นยาใหม่ รวมทั้งการวิจัยกลไกที่เกี่ยวข้องกับยาบางชนิด นอกจากนี้ยังทำการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ป่าโดยใช้ความรู้ทางด้านนิเวศวิทยาและการจัดทำฐานข้อมูลแปลงศึกษาความ หลากหลายทางชีวภาพดังนั้นจะเห็นได้ว่าโปรแกรมการวิจัยทรัพยากรชีวภาพประกอบด้วยกลุ่มนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความสมบูรณ์และครบวงจรของกลุ่มงานวิจัยในด้านนี้อย่างมาก และถือได้ว่าเป็นกลุ่มวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่อยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการที่จะพัฒนางานวิจัยในสาขานี้ของประเทศ โดยได้ร่วมมือทำงานวิจัยและให้คำแนะนำแก่นักวิจัยจากทั้งสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัยอื่นๆทั่วประเทศ
งานวิจัยและพัฒนา
-การศึกษาวิจัยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและสูตรโครงสร้างของสารสกัดโดยวิธี activity guided isolation --จากพืชสมุนไพรและจุลินทรีย์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นยาสำหรับคน สัตว์ พืชหรือเอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม
-การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของเชื้อราในประเทศไทย ได้แก่ ราแมลง เชื้อราบนเมล็ด ราทะเล ราที่ต้นปาล์มในป่าดิบชื้น
-การตรวจสอบหาเอ็นไซม์ที่ทำกิจกรรมได้ในสภาวะที่มีความเป็นกรดด่างสูงจากเชื้อจุลินทรีย์ที่พบในประเทศไทย
-การศึกษาคุณสมบัติและปรับปรุงประสิทธิภาพของเอนไซม์ที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรมจากเชื้อราที่แยกได้ในประเทศไทย
-การคัดแยกและการแสดงออกของยีนที่ควบคุมการสร้างเอนไซม์ที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรมจาก เชื้อจุลินทรีย์ที่เลี้ยงได้และไม่ได้ในห้องปฏิบัติการ เคมีของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสารออกฤทธิ์ชีวภาพจากพืชและจุลินทรีย์
-การศึกษากลไกการชดเชยระหว่างเอ็นไซม์ COX-1 COX-2 และ PLA2 ในเซลล์ที่ขาด COX-1 หรือ COX-2
-บทบาทของชะนีในการฟื้นตัวของป่าในแปลงศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพมอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
-การจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าฮาลา-บาลา ทางภาคใต้ของประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น: